ธราธิป ทรัพย์มามูล http://tharatip.siam2web.com/

บุคลิกภาพ (Personality) ความหมายของบุคลิกภาพ

บุคลิกภาพ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Personality มาจากรากศัพท์ภาษากรีก คือ Persona ( Per + Sonare) ซึ่งหมายถึง Mask ที่แปลว่า หน้ากากที่ตัวละคร ใช้สวมใส่ใน การเล่นเป็น บทบาทแตกต่างกันไปตามที่ได้รับ

ออลพอร์ต (Allport 1955) บุคลิกภาพ หมายถึง การจัดและรวบรวมเกี่ยวกับระบบทางร่างกายและจิตใจภายในตัวของแต่ละบุคคล แต่จะมีการเปลี่ยนแปรอยู่เสมอ ยังผลให้แต่ละคนมีการปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำแบบใคร

ฮิลการ์ด (Hilgard) ได้ให้ความหมายของบุคลิกภาพว่า หมายถึง ลักษณะส่วนรวมของบุคคล แต่ละคนอันเป็นแนวทาง ในการปรับตัว ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม ซึ่งแต่ละคนจะมีรูปแบบของ การแสดงออกทางพฤติกรรมต่าง ๆ กัน

เบอร์นาร์ด (Bernard) ได้ให้ความหมายของบุคลิกภาพว่า หมายถึง ผลรวมทั้งหมดของท่าทางรูปร่างลักษณะทางกาย พฤติกรรมที่แสดงออก แนวโน้มการกระทำ ขอบเขตความสามารถทั้งที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในและที่แสดงออกมาให้เห็น

ฮาร์ดแมน (Hartman) ได้ให้ความหมายของบุคลิกภาพว่า หมายถึง ส่วนรวมทั้งหมดที่บุคคลแสดงออกโดยกริยาอาการ ความนึกคิด อารมณ์ นิสัยใจคอ ความสนใจ การติดต่อกับผู้อื่น ตลอดจนรูปร่างหน้าตา การแต่งกาย และความสามารถในการอยู่รวมกับบุคคลอื่น

โดยสรุป บุคลิกภาพ หมายถึง คุณลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล แสดงออกโดยพฤติกรรม ที่บุคคลนั้นมีต่อสิ่งแวดล้อม ที่ตนกำลังเผชิญอยู่ และพฤติกรรมนี้จะคงเส้นคงวาพอสมควร ลักษณะของแบบแผนพฤติกรรมและแบบแผนการคิด ที่เป็นตัวกำหนด ลักษณะเฉพาะของบุคคล ในการปรับตัวกับสิ่งแวดล้อม มนุษย์แต่ละคนมีบุคลิกภาพที่แตกต่างกัน ไม่มีใครเหมือนกันไปทุกอย่าง แม้กระทั่งพี่น้อง หรือฝาแฝดก็ตาม ทั้งนี้เพราะมนุษย์แต่ละคนมีความพิเศษและความเป็นหนึ่งในตัวของแต่ละคน (unique)


โดยทั่วไปบุคลิกภาพของมนุษย์จะแสดงลักษณะของบุคคลนั้น ๆ ในด้านต่อไปนี้

1. ความมีเอกลักษณ์เฉพาะตน (Individuality) ลักษณะที่ทำให้คนนั้นแตกต่างไปจากคนอื่น ๆ เช่น พูดจาโผงผาง, โอบอ้อมอารี หรือรักสนุก ฯลฯ
2. ความคงเส้นคงวา (Consistency) ของพฤติกรรม เป็นแนวโน้มที่บุคคลมักแสดงพฤติกรรม ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งทุกครั้งหรือบ่อยครั้ง เช่น บางคนเวลาโกรธจะเงียบไม่ยอมพูดจา หรือบางคนโกรธแล้วชอบกระทืบเท้า เป็นต้น

นักทฤษฎีและทฤษฎี : บุคลิกภาพคืออะไร

ฮิปโปเครตีส ,ชาวกรีก, ศตวรรษที่ 5 ก่อน คริสต์ศักราช
บุคลิกภาพมี 4 แบบคือ ฉุนเฉียว (อารมณ์ร้อน) รื่นเริง (มั่นใจ) เศร้าสร้อย (อารมณ์แปรปรวน) และเฉื่อยเนือย (ตอบสนองช้า) อารมณ์เหล่านี้เกิดจากธาตุน้ำในร่างกายของเราตามลำดับคือ น้ำเหลือง เลือด น้ำดีดำ และเสมหะ

ซิกมันด์ ฟรอยด์, ชาวออสเตรีย, 1856-1939
บุคลิกภาพเกิดจากพลัง 3 อย่าง ได้แก่ อิด (id) ส่วนของสัญชาติญาณที่อยู่ใน จิตใต้สำนึก ซูเปอร์อีโก้ (superego) ส่วนของวัฒนธรรมที่ดีงาม และส่วนยับยั้งชั่งใจ และอีโก้ (ego) ส่วนของ”ตัวฉัน” ซึ่งจะประสานอิดกับซูเปอร์อีโก้ในการตอบสนองต่อสิ่งเร้ารอบตัว พลังทั้งสามนี้ จะขัดแย้งกันตลอดเวลา เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์ได้รับการตอบสนอง ด้านความหิวอย่างเต็มที่ อิดจะกระตุ้น ความปรารถนาทางเพศ และ ความก้าวร้าว ทฤษฏีนี้เชื่อว่า เด็กเล็กมีความรู้สึกทางเพศกับพ่อแม่ ที่มีเพศตรงข้ามกับตน ขณะเดียวกันก็เกลียด และ กลัวพ่อหรือแม่ เพศเดียวกับตน เด็กชายที่ไม่สามารถหาทางออกให้พลังนี้อย่างถูกต้องอาจเป็นทุกข์จากปมอิดิปุส (จากอีดีปุสวีรบุรุษในตำนานกรีก ซึ่งได้สังหารบิดา และแต่งานกับมารดาโดยไม่รู้มาก่อน) เด็กผู้หญิงที่มีปัญหานี้อาจเกิดจากปมอิเล็กตรา (เรื่องจากตำนานกรีก เมื่อกษัตริย์อากาเมมนอนผู้เป็นพระบิดาถูกมเหสีที่นอกพระทัยปลงพระชนม์ อิเล็กตราก็แก้แค้น โดยชักนำเชษฐาให้สังหารพระมารดา)

อัลเฟรด แอดเลอร์, ชาวออสเตรีย, 1870-1937
บุคลิกภาพคือการดิ้นรนแสวงหาปมเด่น ซึ่งสำคัญยิ่งกว่าการตอบสนองต่อสิ่งเร้า พื้นฐานที่อยู่ในจิตใต้สำนึกตามทฤษฎีของฟรอยด์ แอดเลอร์เชื่อว่าบุคคลที่ไม่สามารถเอาชนะความรู้สึกต่ำต้อยในวัยเด็กจะกลายเป็นคนมีปมด้อย ส่วนผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะจะชดเชยปมด้อยของตนด้วยการทำสิ่งที่ดีงามมากกว่าการแสวงหาอำนาจส่วนตน

คาร์ล กุสตาฟ จุง, ชาวสวิส, 1875-1961
บุคลิกภาพไม่ได้ถูกกำหนด มาตั้งแต่วัยเด็กอย่างที่ฟรอยด์คิด แต่เปลี่ยนแปลงได้ ตลอดชีวิต จิตใต้สำนึก ไม่ได้ถูกครอบงำด้วย แรงปรารถนาทางเพศ เท่านั้น แต่ยังประกอบด้วยปมต่าง ๆ หรือกลุ่มของความทรงจำและความนึกคิด ซึ่งเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่
เราพยายาม จะผสมผสานสิ่งเหล่านี้เข้าเป็นบุคลิกเฉพาะของตัวเอง จิตใต้สำนึก นั้นไม่ได้หมายถึง ความทรงจำของเราอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึง สิ่งที่เป็นลักษณะร่วมของมนุษยชาติ ซึ่งหมายถึง “จิตใต้สำนึกอันเป็นจิตวิญญาณในกระบวนการวิวัฒนาการของมนุษยชาติ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปตามโครงสร้างทางสมองของแต่ละบุคคล” บุคลิกภาพของคนเราอาจแบ่งได้เป็นสองลักษณะใหญ่ ๆ คือ บุคลิกภาพแบบเก็บตัว และ แบบชอบสังคม

คาเรน ฮอร์เนย์ ชาวอเมริกันเชื้อสายเยอรมัน, 1885-1952
บุคลิกภาพพื้นฐานหล่อหลอมมาจาก ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมากกว่าแรงขับ ทางชีวภาพตามแนวคิดของฟรอยด์ ความสับสนทางบุคลิกภาพ มีสาเหตุมาจาก การที่คนคนนั้น ใช้ชีวิตโดยมี ความวิตกกังวลเป็นพื้นฐาน ซึ่งมีต้นตอมาจาก “ความรู้สึกถูกทอดทิ้ง และ ช่วยตัวเองไม่ได้ ในโลกที่ไร้ความปรานีในช่วงวัยเด็ก”

กอร์ดอน อัลพอร์ต, ชาวอเมริกัน, 1897-1967
บุคลิกภาพเกิดจาก การผสมผสานนิสัยต่าง ๆ ของบุคคล อัลพอร์ตได้รวบรวม คำศัพท์อังกฤษซึ่ง อธิบายลักษณะนิสัยไว้มากถึง 18,000 คำ

อีริค เอช, อีริคสัน, ชาวอเมริกันเชื้อสายเยอรมัน, 1902-1994
บุคลิกภาพ เป็นผลจากการพัฒนาการของชีวิตทั้งหมด 8 ช่วงวัยตั้งแต่วัยทารกจน ถึงวัยชรา โดยบุคคลจะมีข้อขัดแย้งประจำวัย และหาทางแก้ไขไปใน แต่ละช่วงวัย วิธีแก้ข้อขัดแย้งของแต่ละคนจะกำหนดบุคลิกภาพของคนคนนั้น ตัวอย่างเช่น ข้อขัดแย้ง ประจำวันของวัยรุ่นคือ “ฉันคือใคร” (วิกฤตการณ์เอกลักษณ์หรือการแสวงหาตนเอง ถ้าแก้ข้อขัดแย้งนี้ได้ จะทำให้เขาค้นพบ เอกลักษณ์ของตัวเอง)

บี. เอฟ. สกินเนอร์, ชาวอเมริกัน, 1904-1990
บุคลิกภาพเป็นผลของพลังงานภายนอกที่สามารถประเมินได้ ดังนั้น วิธีการที่เรา คิดและกระทำ จึงเปลี่ยนแปลงไป ตามสิ่งแวดล้อมที่เราควบคุม ในหนังสือชื่อ Walden Two สกินเนอร์ฝันถึงดินแดนในอุดมคติ ที่ซึ่ง บุคลิกภาพ ได้รับการหล่อหลอมมาจาก การส่งเสริมพฤติกรรม ที่พึงปรารถนาอย่างเป็นระบบ

อับราฮัม เอช. มาสโลว์, ชาวอเมริกัน, 1908-1970
เรา “มีเจตจำนงที่จะมีสุขภาพดี มีแรงกระตุ้นที่จะเติบโตหรือทำให้ศักยภาพของ เราเป็นจริงขึ้นมา” เราบรรลุศักยภาพเต็มเปี่ยมของเราได้ด้วยการรู้จักตัวตนของเรา ซึ่งรวมถึง ประสบการณ์ปิติสุขอันยากจะอธิบาย

personality

องค์ประกอบของบุคลิกภาพของบุคคล

บุคลิกภาพของบุคคลประกอบขึ้นด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ ดังนี้

  1. ด้านกายภาพ หมายถึง รูปร่างหน้าตา ทรวดทรง ท่าทาง การแต่งกาย การเดิน เป็นต้น บุคลิกภาพ
    ด้านกายภาพ นี้เป็นสิ่งที่ผู้อื่นมองเห็นได้
  2. ด้านวาจา หมายถึง การใช้ถ้อยคำ น้ำเสียง ซึ่งผู้อื่นจะรับรู้ได้โดยการฟัง ลักษณะต่าง ๆ สะท้อน บุคลิกภาพด้านนี้เช่น การพูดไม่เข้าหูคน การพูดจากระโชกโฮกฮาก การพูดจาน่าฟัง เป็นต้น บุคลิกภาพทางวาจาที่ดีย่อมหมายถึงการพูดจาด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล น่าฟังเป็นมิตร และได้สาระ
  3. ด้านสติปัญญา หมายถึง ความสามารถทางการคิดแก้ปัญหา ไหวพริบ ความสามารถที่จะมี ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ได้อย่างเหมาะสม คิดเป็น รู้จักคิด คิดแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี แสดงออกหรือสนองตอบผู้อื่นได้อย่าง “ทันกัน” และ “ทันกาล”
  4. ด้านอารมณ์ หมายถึง การมีอารมณ์ดี คงเส้นคงวา ไม่วู่วาม เอาแต่อารมณ์ ฉุนเฉียวโกรธง่าย หรือบางคนมีอารมณ์ร่าเริง มากกว่าอารมณ์อื่น หรือบางคน เครียด เศร้า ขุ่นมัว หม่นหมองอยู่เสมอ
  5. ด้านความสนใจและเจตคติ ของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไปบางคนไม่สนใจการเมือง ซึ่งบางคนมีความสนใจ หลากหลายไม่สนใจเพียง เรื่องใดเรื่องหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว
  6. ด้านการปรับตัว มีผลต่อลักษณะของบุคลิกภาพ ถ้าใช้แบบที่ดีมีพฤติกรรมที่เหมาะสม สังคม ยอมรับ จะอยู่ในสังคม ได้อย่างมีความสุข ตรงกันข้ามถ้าปรับตัวไม่ดีวางตัวในสังคมไม่เหมาะสม ย่อมมี ผลเสียต่อบุคลิกภาพด้านอื่น ๆ ไปด้วย

 

Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 3,744 Today: 2 PageView/Month: 3

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...