ธราธิป ทรัพย์มามูล http://tharatip.siam2web.com/

อิทธิพลของการอบรมเลี้ยงดูที่มีผลต่อบุคลิกภาพ

ในการอบรมเลี้ยงดูเด็กย่อมมี การถ่ายทอดลักษณะ และมาตรฐานต่าง ๆ ในสังคมให้แก่เด็ก โดยกระบวนการเสริมแรงและ การเรียนรู้โดยการเลียนแบบ เด็กจะเลียนแบบพฤติกรรมการแสดงออกต่าง ๆ ของบิดามารดาหรือผู้ที่เลี้ยงดู มากกว่าที่จะทำตามคำสอน ดังนั้น ทัศนคติและการเป็นตัวแบบของบิดามารดาตลอดจนการถือตนตามแบบของเด็ก มีผลต่อพัฒนาการทางบุคลิกภาพ ของเด็กเป็นอย่างยิ่ง (สุภาพรรณ โคตรจรัส, 2542) หากพ่อแม่มีการอบรมสั่งสอนที่ไม่เหมาะสม ก็จะทำให้เด็กมีความสับสน ไม่เข้าใจ และไม่สามารถพัฒนา ตัวแบบ (Image) ให้เกิดขึ้นในใจตนเองได้
สมคิด อิสระวัฒน์ (2542) พบว่าการอบรมเลี้ยงดูของครอบครัวที่เลี้ยงดูแบบให้ความรัก ความใกล้ชิด ความอบอุ่น สอนให้เป็นคนที่มีเหตุผล ฝึกลูกให้ช่วยตนเอง ให้ตัดสินใจเอง โดยพ่อแม่จะเป็นผู้ให้คำแนะนำหรือที่ปรึกษานั้น เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาลักษณะการเรียนรู้ด้วยตนเองของเด็ก ในทำนองเดียวกัน การเลี้ยงดูของพ่อแม่ด้วยท่าที หรือ เจตคติ (attitude) ไม่รักหรือรังเกียจ (Rejection) และการรักและปกป้องคุ้มครองเด็กมากเกินไป ( Overprotection) นั้นมีผลต่อพฤติกรรมของเด็ก ที่แตกต่างกัน เช่น

1. การเลี้ยงดูที่ทอดทิ้ง กระทำทารุณ หรือประนามอย่างไม่สมควร หรือเข้มงวด ดุ ลงโทษเสมอ ๆ จะส่งผลต่อพฤติกรรมของลูก จะเป็นคนขี้กลัว กังวล มีปมด้อยยอมให้คนทั่วไปเอารัดเอาเปรียบ เพื่อใฝ่หาความรักที่ไม่เคยได้รับ หรือมีพฤติกรรมในทางตรงกันข้ามคือ ก้าวร้าว ไม่เป็นมิตรต่อบุคคลอื่น และไม่ยอมลงให้ใครเมื่อโตขึ้น
2. แสดงความรักลูกไม่เท่ากัน จะทำให้เด็กเกิดความอิจฉาแก่งแย่งชิงดีกันระหว่างพี่น้อง เด็กที่รู้สึกว่าพ่อแม่ไม่รัก มักจะกังวล อารมณ์หวั่นไหวสมาธิเสื่อม เป็นเด็กดื้อ เจ้าอารมณ์ และเต็มไปด้วยความรู้สึกชิงชังคนอื่น
3. แสดงความห่วงใย และตามใจเกินขอบเขต วุ่นวาย ปรนนิบัติ คอยระมัดระวังเกินไป เด็กจะไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่รับผิดชอบตนเองเท่าที่ควร บุคลิกภาพไม่เจริญสมวัยหรือมีวุฒิภาวะต่ำ
4. แสดงความโอบอุ้มคุ้มครองมากเกินไปอาจเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เป็นคนเปราะ ไม่มีความอดทน มีความโน้มเอียงที่จะเป็นโรคจิต โรคประสาทได้พอ ๆ กับเด็กที่ขาดความรัก

พวงทอง นิลยิ้ม (2537) พบว่า ผู้ใหญ่ในครอบครัวมีบทบาทสำคัญในการให้การเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และ ถ่ายทอดวัฒนธรรม ให้กับลูกหลาน ของตนเอง โดยมี การเล่นและของเล่นของเด็กเป็นสื่อกลางที่ใช้ในการถ่ายทอด ได้รับการปลูกฝังจนพัฒนาเป็นบุคลิกภาพของเด็ก คือ ความสนุกสนานร่าเริง ความสัมพันธ์กับผู้อื่นความมีเมตตา การแข่งขันตาม กติกาของสังคม และ ความขยันอดทน
การอบรมเลี้ยงดู นั้น พ่อแม่ และผู้ปกครองส่วนใหญ่มีความสำคัญในการปลูกฝังบุคลิกลักษณะต่าง ๆ ให้แก่เด็ก ตามแบบแผนของพฤติกรรม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม สิ่งสำคัญที่สุดคือปฎิสัมพันธ์ (Interaction) กับคนและสิ่งแวดล้อม ประสบการณ์แรกที่เด็กสังเกตและรับไว้จะมาจากครอบครัว ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นความเชื่อ ทัศนคติและบุคลิกภาพ

ซิมมอนด์ (อ้างในศิริพร หลิมศิริวงค์ 2511: 25) ศึกษาวิธีการอบรมเลี้ยงดูที่มีผลต่อบุคคลิกภาพของเด็ก พบว่า
1. พ่อแม่ที่ปล่อยปละละเลย จะทำให้บุตรมีลักษณะเป็นคนก้าวร้าว เจ้าคิดเจ้าแค้น ชอบพูดปด หนีโรงเรียน ลักเล็กขโมยน้อย
2. พ่อแม่ที่ประคบประหงมบุตร จนเกินไป บุตรจะมีลักษณะเป็นคนที่ไม่ให้ความร่วมมือ พึ่งตนเองไม่ได้ ไม่มีความมั่นใจในตนเอง
3. พ่อแม่ที่มีอำนาจเหนือบุตร บุตรจะเป็นคนเจ้าระเบียบ สุภาพเรียบร้อย อยู่ในโอวาท สามารถปรับตัวเข้ากับผู้ใหญ่ได้ดี สงบเสงี่ยม ขาดความริเริ่ม
4. พ่อแม่ที่ยอมจำนนต่อบุตร บุตรจะขาดความรับผิดชอบ ไม่อยู่ในโอวาท เห็นแก่ตัว ดื้อดึง มักทำอะไรตามชอบใจ

ในสังคมไทยนั้นมีความแตกต่างกันตามขั้นทางสังคมของบุคคล ซึ่งแบ่งเป็น 3 ลักษณะ (รัชนีกร เศรษโฐ, 2523:137 - 139) คือ
1. ครอบครัวชาวไร่ชาวนา การอบรมเลี้ยงดูไม่มีพิธีรีตรองพิถีพิถันเท่าไร ทำตามความสะดวกและตามใจเด็ก คือเมื่อเด็กร้องก็จะตอบสนอง และเป็นไปตามสถานการณ์ เช่น การหย่านม ถ้าเป็นลูกคนเดียวก็จะดูดนมไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะมีน้อง การอบรมกริยามารยาทและความรอบรู้มักสอนตามวัฒนธรรม โดยให้ความรู้โดยตรง และอยู่ในวงจำกัดของสังคม ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรม ทัศนคติและค่านิยม
2. ครอบครัวเจ้านายผู้ดีเก่า การอบรมสั่งสอน จะเข้มงวดพิถีพิถัน โดยเฉพาะกริยามารยาทของผู้ดี
การให้การศึกษาก็มักจะให้กับลูกชายเพื่อสืบตระกูลมีความทนุถนอมเด็กมาก ถ้าเป็นหญิงมักจะถูกเก็บไว้ให้อยู่แต่ในบ้าน การศึกษาก็ได้รับน้อยกว่าชาย ส่วนมากจะให้เรียนรู้เกี่ยวกับการบ้าน การเรือน
3. ครอบครัวชั้นกลาง ครอบครัวในระดับนี้ถือได้ว่าเป็นตัวแทนของครัวไทยสมัยใหม่
การอบรมมักจะเน้นเรื่องความสามารถทางการศึกษาและการทำงานของเด็ก มีทักษะในการแข่งขันมากกว่า 2 พวกแรก การอบรมจะเพิ่มความพิถีพิถันมากขึ้น

ดวงเดือน พันธุมนาวิน ได้แบ่งการอบรมเลี้ยงดูออกเป็น 5 แบบ (2521:42 - 43)
1. แบบมุ่งอนาคต หมายถึงการอบรมเลี้ยงดูที่สร้างนิสัย การบังคับตนเอง ให้อดได้รอได้ หรือเลือกที่จะไม่รับประโยชน์เล็กน้อยในทันที แต่จะรอรับประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่กว่าหรือสำคัญกว่า ที่จะตามมาภายหลัง
2. แบบรักสนับสนุน หมายถึง ลักษณะการปฏิบัติของมารดา ในลักษณะของการแสดงความสนิทสนม รักใคร่ ชื่นชม สนใจทุกข์สุข ช่วยแก้ปัญหาให้ลูก
3. แบบควบคุม หมายถึง ลักษณะแบบปฏิบัติของบิดามารดาในลักษณะการออกคำสั่ง และควบคุมการกระทำในเรื่องต่าง ๆ อยู่เสมอ โดยไม่ยอมปล่อยให้ลูกเป็นตัวของตัวของตัวเอง
4. แบบใช้เหตุผล หมายถึงลักษณะการปฏิบัติของบิดามารดา โดยการอธิบายเหตุผลในขณะที่สนับสนุน และห้ามปรามการกระทำของลูก
5. แบบลงโทษทางกายและจิต หมายถึงลักษณะการปฏิบัติของบิดามารดา ในลักษณะที่ลงโทษลูกด้วยการทำให้เจ็บตัว หรือการติเตียนไม่ให้ความรัก ตัดสิทธิ์ต่าง ๆ

นอกจากนี้ ดวงเดือน พันธุมนาวิน (2520, 26) ได้แบ่งบิดามารดาออกเป็น 4 ประเภท ตาม ทัศนคติของพ่อแม่ ในการอบรมเลี้ยงดูบุตร คือ
1. ประเภทรักจนเหลิง หมายถึง การเลี้ยงดูที่ให้เด็กเป็นศูนย์กลาง เด็กจะได้รับความรักและการตามใจอย่างมากจนเกินไป ไม่มีความรับผิดชอบหรือหน้าที่ที่จะปฏิบัติภายในบ้าน ได้รับของ และพาไปเที่ยวสนุกสนาน โดยไม่มีเหตุผลอันควร
2. ประเภทเข้มงวด หมายถึง การเลี้ยงดูหรือคาดหวังให้เด็กปฏิบัติตามอย่างแคร่งครัด
หากไม่ปฏิบัติจะถูกลงโทษ การกระทำมีกฎเกณฑ์ลงโทษอย่างยุติธรรม คาดหวังที่จะให้เด็กมีความสามารถเกินธรรมชาติ
3. ประเภทละทิ้งและปฏิเสธ หมายถึง การเลี้ยงดูทำตนเป็นศัตรูอย่างเปิดเผยกับเด็กแสดงความโกรธ เกลียดในรูปของการควบคุม และลงโทษซ้ำพ่อแม่ยังรู้สึกว่าลูกของตนเป็นผู้แก้ไขให้ดีไม่ได้แล้ว
4. ประเภททะนุถนอมแบบไข่ในหิน หมายถึง การเลี้ยงดูแบบคอยสอดส่องลูกตลอดเวลา โดยมิให้เสี่ยงเลย พ่อแม่จะทำให้ลูกทุกอย่าง แม้จะโตแล้ว

การอบรมเลี้ยงดูที่มีผลต่อบุคลิกภาพของเด็กไทยนั้น ได้มีผู้ทำการวิจัยไว้มากมาย ดังนี้

ชูศรี หลักเพชร (2511) พบว่าเด็กที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย มีความเชื่อมั่นในตนเองสูงกว่า การเข้มงวดกวดขัน
รัชนี กิติพรชัย (2515) พบว่า เด็กที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบเข้มงวดกวดขัน จะทำให้มีความคิดริเริ่มต่ำ
ถั้น แพรเพชร (2517) พบว่านักเรียนที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย มีความคิดริเริ่มสูงกว่า การอบรมเลี้ยงดูแบบอื่น
วิกรม กมลสุโกศล (2518) พบว่า เด็กที่ได้รับการบอบรมเลี้ยงดูแบบถูกทอดทิ้ง และแบบคุ้มครองมากเกินไป มีความวิตกกังวลสูงกว่าเด็กที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย
จำเนียร คันธเสวี (อ้างใน วิกรม กมลศุโกศล 2518:11) กล่าวว่า การเลี้ยงดูแบบให้ความคุ้มครองมากเกินไป โดยการให้ความรักและเอาใจใส่มากเกินไป จะทำให้เด็กมีลักษณะเป็นผู้ตาม มักมีปัญหาที่ยุ่งยาก ไม่มีความสามารถในการปรับตัว เป็นคนเห็นแก่ตัว ซุกซนผิดปกติโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของผู้อื่น สนุกโดยการแกล้งผู้อื่นไม่กลัวใคร ชอบฝ่าฝืน และมักจะก้าวร้าว
ประพันธ์ สุทธาวาส (2519) พบว่าเด็กที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบทอดทิ้ง และแบบให้ความคุ้มครองมากเกินไป มีความก้าวร้าวมากกว่าเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย ส่วนเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูแบบทอดทิ้งและแบบให้ความคุ้มครองมากเกินไป มีความก้าวร้าวไม่ต่างกัน แต่แบบประชาธิปไตยเด็กชายมีแนวโน้มก้าวร้าวมากกว่าเด็กหญิง
ประพันธ์ สุทธาวาส (2519) พบว่าเด็กที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย มีความก้าวร้าวน้อยกว่าเด็กที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบทอดทิ้ง
สมาน กำเนิด (2520) วิจัยพบว่า เด็กที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย ปรับตัวได้ดีกว่า เด็กที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดู แบบปล่อยปละละเลย
ดวงเดือน พันธุมนาวิน (2521, 105) กล่าวว่า ผู้ที่ถูกอบรมเลี้ยงแบบควบคุมมาก จะเป็นผู้ที่มีคะแนนความเอื่อเฟื้อสูง แต่จะมีลักษณะความเป็นผู้นำต่ำ มีวินัยทางสังคมต่ำ มีความสามารถควบคุมตนเองน้อย
วรรณงาม รุ่งพิสุทธิพงษ์ (2522) ศึกษาพบว่า การอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย ฐานะทางเศรษฐกิจ การศึกษาของบิดามารดาและอาชีพมีความสัมพันธ์กับสติปัญญา
สัมพันธ์ บุญเกิด (2522) วิจัยพบว่า บิดามารดาที่มีอายุ ระดับการศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจสถานภาพการทำงานแตกต่างกัน จะมีความเชื่อมั่นในการอบรมเลี้ยงดูแตกต่างกัน
บัณฑิตา ศักดิ์อุดม (2523) พบว่า เด็กที่ได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย จะมีวินัยในตนเองสูง
สำหรับการอมรมเลี้ยงดูตามฐานะเศรษฐกิจของครอบครัวนั้น ได้มีผู้วิจัยพบว่าในครอบครัวระดับสูง บิดามารดาจะฝึกสัมฤทธิ์ผลให้แก่เด็กมาก เพราะต้องการให้เด็กประสบความสำเร็จในชีวิตเช่นเดียวกับตน (เกื้อกูล ทาสิทธิ์, 2513)
ครอบครัวในระดับกลาง ได้รับการอบรมเลี้ยงดูให้รู้จักพึ่งตนเองบิดามารดาจะใช้วิธีการอ่อนโยน มีการลงโทษน้อย ทำให้เด็กเป็นตัวของตัวเอง กล้าแสดงออก มีลักษณะของผู้นำ มั่นใจในตนเองสูง จากการศึกษาของราศรี เทพหัสดิน ณ อยุธยา (2515) พบว่า เด็กที่มาจากครอบครัวระดับกลางมีลักษณะดังนี้

มีความทะเยอทะยานสูงกว่าเด็กที่มาจากครอบครัวระดับต่ำ
เด็กชายมีความทะเยอทะยานมากกว่าเด็กหญิง
มีความสนใจตนเองมากกว่าผู้อื่น
ต้องการเห็นความเจริญของสังคม มากกว่าการเข้าไปช่วยทำให้สังคมนั้นเจริญขึ้น
ครอบครัวระดับต่ำ มีการฝึกให้เด็กมีการอดได้รอได้ สูงมาก เรียนไม่เก่ง ขลาดกลัว ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง รู้สึกว่าตนมีปมด้อย ไม่กล้าแสดงออก อยากเปลี่ยนแปลงบุคคลิกภาพของตนให้ดีขึ้น

งานวิจัยที่เกี่ยวกับลักษณะที่อยู่นั้น มัญชรี บุนนาค (2514) ได้วิจัยเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูของบิดามารดาในเมืองใหญ่กับต่างจังหวัด พบว่า เด็กในกรุงเทพฯ มีความสามารถเหนือเด็กในต่างจังหวัดในด้านต่อไปนี้

1. ความสามารถทางสติปัญญา
2. ความมั่นใจในตนเอง
3. ความสามารถในการบังคับตนเอง
ส่วนเด็กต่างจังหวัดเหนือกว่าเด็กในกรุงเทพฯ ก็คือสภาพทางอารมณ์

ดวงเดือน พันธุมนาวิน (2521) ได้ให้ข้อเสนอแนะแก่ผู้ปกครองในการให้การอบรมเลี้ยงดูดังนี้

1. ไม่เลี้ยงดูแบบควบคุมมาก ควรใช้วิธีการที่นุ่มนวล และลดปริมาณการควบคุมเด็กลงบ้าง เพื่อให้เด็กไม่รู้สึกว่า ตนถูกควบคุมจนเกินไป เปิดโอกาสให้เด็กได้สำรวจสภาพแวดล้อมของตนได้กว้างขวางขึ้น ฝึกให้ตัดสินใจปัญหาต่าง ๆ ด้วยตนเอง ภายใต้การแนะนำของผู้ปกครอง มิใช่ปล่อยไม่ควบคุมเลย เพราะจะทำให้เด็กขาดความเชื่อฟัง ไม่รับผิดชอบ ขาดสมาธิ จึงควรเลี้ยงดู ที่ใช้การควบคุมทีมีปริมาณปานกลาง จะให้ผลดีที่สุด
2. การอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย มีผลต่อความสมบูรณ์ทางสุขภาพจิตของเด็ก ซึ่งใช้การอบรมแบบใช้เหตุผล โดยเฉพาะ เหตุผลทางจริยธรรม จะมีลักษณะมุ่งอนาคตสูงและมีสุขภาพจิตดี ควรทำให้เด็กรู้สึกว่าตนได้รับความรักมาก โดยทำให้เด็กทราบว่า ในการเลี้ยงดูนั้น 

Advertising Zone    Close

Online: 1 Visits: 3,745 Today: 2 PageView/Month: 4

ด้วยความปราถนาดีจาก "สยามทูเว็บดอทคอม" และเพื่อป้องกันการเปิดเว็บไซต์เพื่อหลอกลวงขายของ โปรดตรวจสอบร้านค้าให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อของทุกครั้งนะคะ    อ่านเพิ่มเติม ...